ช่างเขียน คือ บุคคลที่มีฝีมือ และ ความสามารถกระทำการช่าง ในทางวาดเขียน และ ระบายสี ให้เกิดเป็นลวดลาย หรือ รูปภาพต่างๆ ได้อย่างงดงาม เป็นที่พิศวง และ เป็นสิ่งน่าพึงตาพอใจแก่ผู้ได้พบเห็น

ช่างเขียนแต่โบราณ หรือ แต่ละพื้นถิ่นสยามประเทศ ได้มีคำเรียกต่างกันออกไป อาทิ ช่างแต้ม ช่างเขียนสี น้ำกาว ช่างเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น

ในบรรดาช่างประเภทต่างๆ ในหมวดช่างสิบหมู่ด้วยกัน ช่างเขียน จัดว่าเป็นช่างที่มีความสำคัญยิ่งกว่าช่าง หมู่ใดๆ ทั้งนี้ เนื่องจากการวาดเขียน และ การเขียนระบายสี เป็นที่ยอมรับนับถือว่า เป็นสื่อที่มีศักยภาพยิ่ง สำหรับ ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ออกมา ให้ปรากฏในลักษณะรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถใช้เป็นต้นแบบ นำไปสร้างสิ่งต่างๆ ได้ต้องตามความประสงค์ หรือ เป็นต้นแบบที่มีความสำเร็จ และ มีคุณค่าเฉพาะในตัวชิ้นงานนั้นโดยตรง ดังมีหลักฐาน เป็นที่ปรากฏ โดยสำนวนภาษาในหมู่ช่างไทยแต่ก่อนพูดติดปากต่อๆ กันมาว่า

“ช่างกลึงพึ่งช่างชัก ช่างสลักแบบอย่างพึ่งช่างเขียน ช่างติ และช่างเตียน ดันตะบึงไม่พึ่งใคร”

อนึ่ง ช่างเขียน หรือ สาระสำคัญของวิชาช่างเขียน ยังได้รับความนับถือว่า เป็นหลักใหญ่ที่มีความสำคัญ กว่าวิชาการช่างศิลปะแบบไทยประเพณีทั้งหลาย ดังจะเห็นได้ว่า ในโอกาสที่ประกอบการพิธีไหว้ครูช่างประจำปี และ มีการรับผู้เข้ามามอบตัว เป็นศิษย์ใหม่ในสำนักช่างนั้นๆ บุคคลผู้เป็นครูช่าง หัวหน้าสำนักช่าง หรือ เจ้าพิธีไหว้ครูจะทำ การ “ครอบ” หรือ “ประสิทธิประสาธน์” ให้ผู้ที่เข้าเป็นศิษย์ใหม่ ให้เป็นผู้ได้รับวิชา และ การฝึกหัดเป็นช่างต่อไป ได้ทำการ “ครอบ” แก่ศิษย์ใหม่ เป็นปฐมก็คือวิชาช่างเขียน โดยผู้ครอบ จับมือศิษย์ใหม่ให้เขียนลายหรือ รูปภาพตามรอยเส้นลายมือของครูเป็นประเดิม