ช่างปั้น คือ บุคคลประเภทหนึ่ง ที่มีทั้งฝีมือ และ ความสามารถเป็นช่าง อาจกระทำการประมวลวัสดุต่างๆ อาทิ ดิน ปูน ขี้ผึ้ง อย่างใดอย่างหนึ่ง มาประกอบเข้าด้วยกัน สร้างเป็นรูปทรงที่มีศิลปะลักษณะ พร้อมอยู่ในรูปวัตถุที่ได้สร้าง ขึ้นนั้นได้เป็นอย่างดี และ มีคุณค่าในทางศิลปกรรม

งานปั้น และ ช่างผู้ทำงานปั้นนี้ เมื่อสมัยโบราณที่ล่วงๆ ไปนั้นเรียกว่า “งานปั้น” และ “ช่างปั้น” แต่ในปัจจุบัน “งานปั้น” เปลี่ยนไปเป็น “ประติมากรรม” ซึ่งมีนัยว่า มาแต่คำภาษาบาลีว่า ปฏิมากมฺม หรือในภาษาสันสกฤตว่า ปรฺติมากรฺม ส่วนคำว่า “ช่างปั้น” ก็ได้รับความนิยม เรียกว่า “ประติมากร”

ช่างปั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นช่างที่มีความสำคัญ จัดอยู่ในลำดับรองถัดลงมาแต่ช่างเขียน ความสำคัญของงานปั้น และ ช่างปั้น จึงเป็นรองงานเขียน และ ช่างเขียน กระนั้นก็ดี ช่างปั้น และ งานปั้นก็ยังมีความสำคัญ หรือ มีอิทธิพล เหนืองานช่างประเภทอื่นอยู่หลายประเภทด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องด้วยงานช่างบางประเภท ต้องอาศัยวิธีการบางอย่าง ของช่างปั้นนำไปเป็นแบบ ดำเนินการทำงานช่างประเภทนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

งานปั้นอย่างไทย หรือ งานปั้นแบบไทยประเพณี มักเป็นงานปั้นที่มีรูปลักษณ์ โน้มไปในรูปแบบที่เป็นลักษณะ รูปประดิษฐ์ หรือ ที่เรียกว่า ”อดุมคตินิยม“ ตามคติความเชื่อในหมู่คนส่วนมากแต่อดีต เนื่องด้วยเป็นงานศิลปกรรม ที่ได้รับการจัดให้มีขึ้น สำหรับหน้าที่ประโยชน์ใช้สอย และ สร้างเสริมความสำคัญแก่ถาวรวัตถุ และถาวรสถานทั้งใน ฝ่ายศาสนจักร และ ฝ่ายอาณาจักรซึ่งมีคตินิยมรูปแบบที่เป็นลักษณะ “บุคลาธิษฐาน” เป็นสำคัญ

งานปั้นแบบไทยประเพณี ที่บรรดาช่างปั้นแต่อดีต ได้สร้างสรรค์ขึ้นไว้นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท งานปั้น แต่ละประเภทยังประกอบการขึ้นเป็นงานปั้น ด้วยวิธีการ และ กระบวนการต่างๆ กัน