ช่างบุ เป็นช่างฝีมือประเภทหนึ่ง ในจำพวกช่างสิบหมู่ ได้ใช้ฝีมือทำการช่าง ในลักษณะตกแต่งผิวภายนอก ของงานประเภทศิลปภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และ สถาปัตยกรรมบางลักษณ์ด้วยงานบุ ให้มีคุณค่าสวยงาม และมั่งคงถาวร
คำว่า “บุ” เป็นคำกริยาอย่างหนึ่ง หมายถึง การเอาของบางๆ หรือ อีกนัยหนึ่งคือ การตีให้เข้ารูป เช่น บุขันทองลงหิน เป็นต้น
รูปภาพ พระพุทธรูปบุทองคำประทับนั่งขัดสมาธิราบ ศิลปะอยุธยาตอนต้น (พุทธศักราช ๑๙๖๗) พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ช่างบุ ที่เป็นช่างหลวง อยู่ในจำพวกช่างสิบหมู่ มาแต่โบราณกาล คือ ช่างประเภทที่ทำการบุโลหะ ให้แผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปหุ้มคลุมปิดเข้ากับ “หุ่น”ชนิดต่างๆ เพื่อปิดประดับทำเป็นผิวภายนอกของ “หุ่น” ที่ทำขึ้นด้วยวัตถุต่างๆ เช่น ไม้ ปูน โลหะ หิน เป็นต้น ให้เกิดความงาม มีคุณค่า และ ความคงทนถาวรอยู่ได้นานปี
งานบุโลหะ ทำขึ้นสำหรับหุ้มห่อปิดคลุมหุ่นชนิดต่างๆ อาจทำแก่สิ่งที่เรียกว่าหุ่นขนาดย่อมๆ ไปจนกระทั่งทำ แก่หุ่นขนาดใหญ่มาก ดังตัวอย่างงานบุในแต่ละสมัยต่อไปนี้
เมื่อสมัยสุโขทัย มีความในจารึกบนหลักศิลาบางหลักระบุเรื่อง การตีโลหะแผ่เป็นแผ่น แล้วบุหุ้มพระพุทธปฏิมากรอยู่หลายความ หลายแห่งด้วยกัน เป็นต้นว่า จารึกศิลาวัดช้างล้อม ระบุความว่า
“…จึงมาเอาสร้อยทองแถวหนึ่งตีโสมพอกพระเจ้า…”
สมัยล้านนา มีความว่า ต้องการช่างบุนี้บันทึกเข้าไว้ในตำนาน การสถาปนาศาสนสถานสำคัญมีความตอน หนึ่งใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าด้วยการบุโลหะหุ้มพระมหาเจดีย์ ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อรัชกาล พระเจ้าติโลกราช
ต่อมาถึงสมัยอยุธยา พระพุทธปฏิมากรจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในช่วงสมัยอันยาวนาน ถึง ๔๐๐ ปี ก็ได้รับความนิยม ใช้โลหะมีค่าหุ้มห่อหุ้มองค์พระให้สวยงาม และมีคุณค่าเพิ่มขึ้น พระพุทธปฏิมากรสำคัญองค์หนึ่ง ได้รับการบุด้วยทองคำ คือ พระพุทธปฏิมาพระศรีสรรเพชญ์
ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การช่างบุ ยังได้รับการผดุงรักษาให้มีอยู่ต่อมาในหมู่ช่างหลวง จำพวกช่างสิบหมู่ ได้ทำการบุโลหะ เป็นเครื่องประดับตกแต่งต่างๆ เช่น บุโลหะประดับฐานเบญจา บุทำพระลองประกอบพระโกศ บุธารพระกร บุฝักพระแสง ฝักดาบ และมีงานบุโลหะชิ้นสำคัญยิ่งชิ้นหนึ่ง คือ บุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เป็นบุษบกที่ทำโครงสร้างด้วยไม้ แล้วบุหุ้มด้วยทองคำทั้งองค์ ในจดหมายเหตุการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความบอกลักษณะบุษบก ไว้ว่า
“…และพระมหาบุษบกนั้น ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูงแปดศอกคืบแผ่สุวรรณธรรมชาติ หุ้มคงแต่เชิงฐานปัทมขึ้น ไปถึงสุดยอด”